พระกันทรวิชัย
ประวัติพระพิมพ์กันทรวิชัย
พระกันทรวิชัย เป็นพระพิมพ์ดินเผา ปางสมาธิเพชร เท่าที่ขุดพบมี 3 ขนาด คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก มีลักษณะสวยงามเป็นเลิศเมื่อเทียบกับพระพิมพ์อื่นๆ เท่าที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น ที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และที่นครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ผลจากการค้นคว้าวิจัยปรากฏว่าพระพิมพ์ดินเผาจากอำเภอกันทรวิชัย โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่ปางสมาธิเพชร จะมีขนาดกว้าง 5 นิ้วครึ่ง สูง 8 นิ้ว มีลักษณะสวยงาม และมีคุณค่าทางศิลปะสูงยิ่งเป็นพุทธศิลปะสมัยคุปตะหรือสมัยปาลวะในราวปี พ.ศ. 963 – 1325 ซึ่งพุทธศิลปะสมัยคุปตะหรือปาลวะมีประวัติความเป็นมาดังนี้
สกุลศิลปะคุปตะ (Gupta School) ประมาณ พ.ศ. 813 – 1190 สกุลศิลปะคุปตะถือเป็นสกุลศิลปะสูงส่ง (Classic Art) ของอินเดีย ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรมและศิลปะอื่นๆ โดยเฉพาะสกุลศิลปะทางพระพุทธรูปแล้ว ถือว่ามีสัดส่วนและการแสดงออก เหนือกว่าสกุลศิลปะใดๆ ถ้าหากจะได้พิจารณาดูลักษณะของพระพุทธรูปในสกุลศิลปะคุปตะ อย่างลึกซึ้งแล้ว จะเห็นว่าพระพุทธรูปในสกุลนี้มีจิตใจแฝงอยู่ภายใน เป็นจิตใจในการสร้างศรัทธาเลื่อมใสทางศาสนาประกอบจิตใจของวรรณคดี และการดนตรีรวมกันไปด้วย จึงถือเป็นสกุลศิลปะที่เต็มไปด้วยอุดมคติอย่างสมบูรณ์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ภาคเหนือของอินเดีย ศิลปวัตถุในสกุลนี้ได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยพบหลักฐานกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
สกุลศิลปะปาลวะ (Pallava School) ประมาณ พ.ศ. 900 – 1300 ความจริงสกุลศิลปะ ปาลวะได้เริ่มมาในระยะใกล้เคียงกับสกุลศิลปะคุปตะ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ทางตอนใต้ของอินเดีย ศิลปะสกุลนี้ได้พัฒนาการไปจากสกุลอันทราอมราวดีและคุปตะ พระพุทธรูปต่างๆ ที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือสกุลนี้ มีส่วนอ่อนช้อยประกอบด้วยเส้นโค้งมากกว่าสกุลศิลปะคุปตะ ซึ่งถือรูปทรงส่วนละเอียดเป็นไปในทางอุดมคติ และสัญลักษณ์ร่วมกัน และมีความเคร่งขรึมมากกว่า ดังนั้นในประวัติการสร้างพระพุทธรูปในอินเดียสกุลนี้เป็นพระพุทธรูปที่มีความอ่อนช้อยละมุนละไมเป็นครั้งแรก ลักษณะ พระพักตร์เป็นรูปทรงไข่และมีความอูมแต่งเป็นพิเศษ พระหนุ 2 ชั้น ในส่วนพระวรกายก็เพิ่มเส้น รอบนอกมีเส้นโค้งทั้งด้านหน้าและด้านข้างอย่างชัดเจน ศิลปะปาลวะได้เข้าสู่ประเทศไทยพร้อมกับคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทำให้มีพระพุทธรูปและเจดีย์ตามแบบศิลปะสกุลปาลวะปรากฏอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด
ประวัติพระพิมพ์กันทรวิชัย เป็นพระปางสมาธิเพชร ในสมัยศิลปะปาลวะหรือคุปตะตอนปลาย มีความเก่าแก่ประมาณประมาณ ๑,๓๐๐ ปี ขุดพบที่อำเภอโคกพระ ปัจจุบัน คือ อำเภอกันทรวิชัย เป็นพระพิมพ์ที่มีคุณค่าทางศิลปะและปรัชญาธรรมอย่างสูงยิ่ง กล่าวคือ มีลักษณะแสดงถึงเชื้อชาติความเป็นชาวพื้นเมืองอย่างเด่นชัด มีพระพักตร์อิ่มเอิบบริสุทธิ์ แสดงถึงความหลุดพ้นจากกาลเวลา
ที่มา: http://www.taksilanakhon.com/wizContent.asp?wizConID=153&txtmMenu_ID=7
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น